อย่างที่เราเคยเล่าไปแล้วว่า ธุรกิจที่มีการผูกขาดดีมาก ยิ่งผูกขาดและไม่ถูกกำหนดราคาโดยภาครัฐ ยิ่งดีไปกันใหญ่
วันนี้เรามานำเสนอรูปแบบหนึ่งของการผูกขาดที่เราเจอกันในโลกเทคโนโลยีคือ Network Effect หลักการของมันง่ายๆก็คือ เมื่อมีผู้ใช้งานมากๆแล้ว จะดึงคนอื่นมาใช้งานด้วย ส่งผลให้คู่แข่งหน้าใหม่ที่มีคนใช้น้อยๆหมดสิทธิ์แข่ง
ตัวอย่างเช่น Line เมื่อมีเพื่อนของเราใช้ Line เราก็ใช้ Line ด้วย ญาติพี่น้องเราก็ใช้ Line กลายเป็นว่าทั้งไทยจะกลายเป็น Line กันหมด พอมีเจ้าใหม่เข้ามา พยายามดึงคนให้มาใช้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นั้นก็เพราะว่า ย้ายไปก็ไม่มีใครใช้และคุยด้วย (WeChat ของจีนที่ทุนหนายังเงิบ)
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนก็คือ Windows เมื่อทุกคนใช้ Windows Windows ก็เป็นตลาดที่ใหญ่ คนเขียนโปรแกรมก็มาเน้น Windows คนก็ใช้ Windows เพราะว่าทำงานได้หลากหลาย อุปกรณ์ต่างๆก็สนับสนุน Windows หมด คู่แข่งก็ยากที่จะมาสู้กับเขาเพราะว่าเขาคือมาตราฐานไปเสียแล้ว
นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีเจ้าอื่นๆอีกเช่น Paypal, Facebook, Ebay เป็นต้น
ส่วนใหญ่หุ้นที่มี Network Effect ไม่ค่อยมีในตลาดไทยสักเท่าไหร่ น่าเสียดายแต่ที่ต่างประเทศมีเยอะสนใจลองดูได้ หุ้นพวกนี้สร้างผลตอบแทนได้ดีพอสมควร
จากเรื่องของ Network Effect ผู้ชนะในโลกออนไลน์จะมีข้อเสียอย่างหนึ่งคือ ผู้ชนะจะกินรวบทั้งตลาดและผู้แพ้ จะกลับบ้านมือเปล่าไม่ได้อะไร
ตัวอย่างที่กำลังแข่งขันอยู่ในตลาดก็คือ อุตสาหกรรมการ์ตูนผ่านทางแอพ อธิบายสั้นๆก็คือ เขาจะให้วาดการ์ตูนเป็นตอนๆลงมา และถ้ามีคนอ่านเยอะก็ได้เงินเยอะ (ในอนาคตจะเป็นแบบคิดเงิน)
ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ชิงลูกค้ากันอยู่ (ช่วงเริ่มต้น) มีผู้เล่นอยู่ 3 รายก็คือ
– Line Web toon (จากญี่ปุ่น(บริษัทแม่เป็นเกาหลี))
– Ookbee Cartoon (จากไทย)
– Comico (จากจีนไต้หวัน)
วิธีการผูกขาดของแอพนี้ก็คือ เมื่อนักเขียนลงเรื่องไหนกับแอพไหนแล้ว จะมีสัญญาให้ลงกับแอพนั้น ย้ายไปแอพอื่นไม่ได้
ในช่วงนี้มันอยู่ในช่วงที่เรียกกันว่า การสั่งสมฐานลูกค้า เมื่อใครที่มีฐานลูกค้ามากที่สุด มันจะนำไปสู่วงจรแห่งความรุ่งเรื่องเป็นภาพง่ายคือ
1. มีฐานลูกค้ามาก = คนซื้อมาก
2. นักเขียนต้องอยากได้เงินมาก = ต้องมาลงกับแอพที่มีลูกค้ามาก
3. คนอ่านก็ต้องตามไปอ่านแอพที่มีลูกค้ามาก
วนเวียนเป็นวงจรและอีกแอพก็จะได้วงจรอุบาทว์มาคือ
1. ไม่มีลูกค้า
2. ไม่มีนักเขียนดีๆมา (ต่อให้มีเขาก็จะหยุดเขียนและย้ายไปแอพที่คนเยอะ)
3. ไม่มีลูกค้า
ตอนนี้เป็นศึกทีอยู่ในช่วงเปิดอ่านฟรี และเจ้าของแอพไม่ได้เงิน แต่เอาเงินในท้องพระคลังมาอุดหนุนธุรกิจนี้เพื่อให้ชนะ พอชนะก็เก็บตังได้ วัดกันที่สายป่านใครยาวกว่ากัน ที่จีนมีและก็ขายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่เลย
ความเห็นส่วนตัว
– Ookbee มีสิทธิ์แพ้สูงเพราะเนื้อหาไม่ Ok (นักเขียนเทพๆไม่ค่อยมี) Network ไม่แข็งแรง (ส่วนใหญ๋่เป็นผู้ใช้จาก Ookbee ของเขา)
– Line เรื่องสนุกมีน้อย แต่ความแข็งแกร่งของเขาคือลูกค้าจาก Line ทำให้เขามีลูกค้ามากที่สุดในตอนนี้ และนี้อาจจะเป็นจุดชี้ขาดผู้ชนะก็ได้ใครจะไปรู้
– Comico Network ไม่ได้หนา แต่เน้นด้านเนื้อหาขั้นเทพ คือเขาเป็นผู้ชนะที่เกาหลี เขาจึงมี Content มากเลยเอาเรื่องเจ๋งๆมาแปลลงที่ไทย และเอาของนักเขียนไทยลงไปเพิ่ม ผลคือคนติดงอมแงม เน้นสายคุณภาพ
ถ้าสถานะการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผู้ชนะคงจะเป็น Line Webtoon แต่เราก็คาดหวังลึกๆนะว่า Comico สายเน้นคุณภาพจะตีตื้นมาได้