บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ค่อนข้างมีโครงสร้างซับซ้อน ขอวิเคราะห์แบบคร่าวๆพอให้เห็นภาพรวม

PRANDA เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณี ส่งออกไปทั่วโลก โดยธุรกิจของเขามีตั้งแต่เป็นผู้ผลิต (OEM) , ผู้จัดจำหน่าย (Reseller) และผู้ค้าปลีกครบวงจร

สินค้าของเขาค่อนข้างมีความหลากหลายมากกว่า Jubile สินค้าที่เขาจำหน่ายมีตั้งแต่ เครื่องประดับทองคำ, เครื่องเงิน, ทองเหลือง, เพชร และอัญมณีอื่นๆเรียกว่าครบวงจร ต่างจาก Jubile ที่มีแต่เพชร

ในแง่ของการขายทางบริษัทก็มีตั้งแต่ B2B ติดต่อตรงคุยกับผู้จัดจำหน่าย, เปิดร้านค้าของตัวเองประมาณ 50 ร้านแฟลกชิพ และในยุโรปจะมีเว็บไซต์จำหน่ายออนไลน์ด้วย เช่น gemondo.com

โดยรายได้ของเขาในปี 2559 มาจาก การผลิต 45.32% การจำหน่าย 20.69% และการขายปลีก 31.11% และรายได้นี้มาจากต่างประเทศ 63% และมาจากในประเทศ 37% เป็นบริษัทข้ามชาติโดยแท้จริง

หลังจากที่รู้จักบริษัทนี้แบบคร่าวๆไปแล้วเรามาลองดูกันว่าทำไมในยามวิกฤติ Jubile ถึงยังสามารถสร้างกำไรได้เป็น 150 ล้านบาทแต่ Pranda ขาดทุนเกือบ -300 ล้านบาท?

คำตอบของเราก็คือ Business Model ที่แตกต่างสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่าง

—————————————————–

Pranda เขาเริ่มต้นจากการเป็นโรงงาน ซึ่งการเป็นโรงงานของเขามันต้องจ้างแรงงาน ซึ่งแรงงานที่เขาจ้างเป็นโรงงานที่มีฝีมือ ที่บริษัทเขาต้องปั้น ต้องฝึกฝีมือ กว่าจะมาเป็นช่างที่เก่งได้ บริษัทต้องดูแลและเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา เขาไม่สามารถลดค่าจ้างส่วนนี้ได้ ส่งผลให้กำไรเขาติดลบ (เกิดไปลดสวัสดิการเขา นายช่างเผ่นไปวุ่นเลย ต้องปั้นใหม่)

ธุรกิจใหญ่ๆที่ต้องใช้คนเยอะจะมีปัญหาเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือเขาเป็นผู้ผลิต OEM ซะส่วนใหญ่ ยังไงซะเขาก็ต้องแบ่งกำไรส่วนหนึ่งให้กับลูกค้า ยังไงกำไรขั้นต้นต้องต่ำกว่าแน่นอน

Jubile เขาแตกต่างกว่าคือ เขาเลือกที่จะใช้ OEM ในการผลิตทำให้เขาไม่ต้องแบกรับภาระในส่วนนี้ ผลคือในปี 2016 Jubile มีกำไรขั้นต้น 44% แต่ว่า Pranda มีกำไรขั้นต้นเพียง 28%

นอกเหนือไปจากนี้แล้ว Pranda ยังมีผลกำไรติดลบส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาขาดทุนไปมากกว่า 30 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วอีก (ปีที่แล้ว 90 ล้านบาทขาดทุน)

—————————————————–

สุภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า
“โชคดีไม่มาสองครั้ง โชคร้ายไม่มาครั้งเดียว”

จากที่เราได้กล่าวไปแล้วว่า Pranda เขาขาดทุนอย่างหนักในหลายปีที่ผ่านมา เงินเดือนลูกน้องก็ต้องจ่าย แต่ไม่มีเงิน สิ่งที่เขาทำก็คือไปกู้มา มีทั้ง Over Draft, ตั๋ว BE, เงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระในปีนี้ รวมกันทั้งหมด 1,152.5 ล้านบาท (เรียกว่ามีที่ไหนก็กู้หมด ขอให้ผ่านไปได้)

ถ้าไปรวมเจ้าหนี้การค้า-ลูกหนี้การค้าก็เกือบ 1,391.9 ล้านบาท

และยังไม่รวมต้นทุนการเงินอีกในไตรมาสที่ 1 จ่ายไปแล้ว 33.81 ล้านบาท คิดทั้งปีก็ 135.24 ล้านบาท หนาวจับใจ

คำถามก็คือ จะไปเอาเงินที่ไหนมาจ่าย ในเมื่อกู้เพิ่มก็ไม่ได้แล้ว?

คำตอบขอเราก็คือ ได้เพิ่มทุนหรือไม่ก็ PP แน่นอน ส่งผลให้หุ้น Dilute มหาศาลอีก

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
– หนี้สูญแปลกๆลองไปเช็คดูได้
– ลูกค้ารายใหญ่ประมาณ 700-800 ล้านบาท
– การพื้นตัวที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นแนวโน้มระยะยาวหรือเปล่า

คำแนะนำในการลงทุนของเรา ลงทุนหุ้น : เทพธิดาพยากรขอทำนายล่วงหน้าว่า บริษัทนี้จะต้องเพิ่มทุนไม่เกินสิ้นปีนี้ ฟันธง