บทความนี้ ค่อนข้างสำคัญเลย เพราะมันจะกระทบกับชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ อยากให้ลองอ่านดูนะครับ

ปล. ผู้สูงอายุอย่าโกรธเรานะ เป้าหมายของบทความนี้ก็คือการชี้ให้คนเห็นว่าอนาคตของประเทศเราจะเป็นอย่างไรในอนาคตอันใกล้
——————————————

เศรษฐกิจประเทศไทยจะสดในอยู่อีกไหม ในแง่ของประชากรศาสตร์?

อย่างแรกก็คือประชากรเรากำลังเพิ่มในอัตราที่ช้าลงไปเรื่อยๆ ในปี 1980 ประชากรของไทยเคยเพิ่มถึงปีละ 1 ล้านคน ในปี 2005 ลดลงมาเหลือปีละ 6 แสนคน, ปี 2016 มีประชากรเพิ่ม 1.87 แสนคน, ในปัจจุบัน 2017 ลดลงมาเหลือปีละ 1.5 แสนคน ลดลงมาถึง 6 เท่ากว่าๆเมื่อเทียบกับปี 1980 และมีแนวโน้มจะเพิ่มแบบลดลงไปเรื่อยๆและจะมาติดลบในไม่ช้า (อัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด)

อย่างต่อมาคือ ในด้านของโครงสร้างประชากรเราก็น่าเป็นห่วง ถ้าลองดูกราฟประชากรของเราจะเห็นว่าประชากรส่วนใหญ่ของเราอยู่ในช่วงวัยทำงานตอนปลาย เด็กเพิ่มมาใหม่ไม่ค่อยมี ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในปี 2025 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว คือมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 20% (8 ปี ไม่นานเลย)

แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศไทย?

คนที่จ่ายภาษีเข้าประเทศและจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดคือคนที่อยู่ในวัยทำงาน ส่วนของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีเงินแต่ว่าจะไม่ใช้เงินเพราะว่านั้นคือเงินที่ได้มาจากการทำงานทั้งชีวิตของเขาซึ่งต้องใช้ในยามปั้นปลาย เมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คนที่ใช้เงินก็จะเริ่มลดลง ส่งผลให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (ยิ่งคนใช้เงินมาก เงินไหลเปลี่ยนมือไว มันจะทำให้เศรษฐกิจดี แต่ถ้าคนใช้เงินน้อยเศรษฐกิจก็จะชะลอตัว) เหตุการณ์อย่างนี้กำลังเกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นที่ผู้สูงอายุมีเงินมาก แต่ไม่ยอมจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามกระตุ้นขนาดไหน ก็จุดไม่ติด ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวยาวนานมากกว่า 20 ปี

ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว คนซื้อไม่ค่อยมี การจ้างงานก็จะลดลงไปด้วย ในด้านแรงงานไม่สดใส และถ้ามองในด้านของภาครัฐที่ภาษีที่เก็บจากประชาชนโดยตรงและห้างร้านต่างๆก็จะลดลงด้วย สวัสดิการต่างๆย่อมที่จะลดลง แต่ว่าคนที่ต้องการสวัสดิการกลับเพิ่มมากขึ้นอนาคตจะเป็นอย่างไรยากที่จะคาดเดา

มุมมองส่วนตัว
– 10 ปีต่อจากนี้เศรษฐกิจก็จะทรงๆไปแต่หลังจากนั้นก็จะเริ่มทรุดถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
– การจ้างงานจะลดลงแล้วเราจะเป็นเหมือนกับที่ยุโรปคือคนว่างงานเพียบ
– สวัสดิการภาครัฐจะลดลงบางส่วนอาจจะหายไป เช่นโครงการ 30 บาท แต่แรงแค่ไหนเราก็ไม่รู้ได้ หวังว่าคงไม่ถึงกับกรีซที่รัดเข็มขัดจนหน้าเขียว
– ความต้องการสวัสดิการจากภาครัฐจะเพิ่มขึ้น เช่นเบี้ยยังชีพ, การรักษา แต่รัฐไม่มีเงินจะให้ เรื่องนี้จะเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญในอนาคต (ประเทศยุโรปและญี่ปุ่นก็เจอปัญหานี้เหมือนกันของเขารวยแล้วทรุดแต่ของเราจะเป็นเวอร์ชั่นจนแล้วทรุด จะออกมายังไงก็ไม่รู้)
– ประเทศเราคนจนไม่มีเงินมีมาก ทำงานแบบหาเช้ากินค่ำ เมื่อถึงวันที่เขาไม่มีแรงจะทำงานจะเป็นยังไง คิดแล้วเศร้า
– เตรียมตัวไว้ให้พร้อมก่อนวันนั้นจะมาถึงดีกว่านะ

ขอให้ทุกคนเตรียมตัวให้พร้อมรับความเสี่ยงในทุกสถานะการณ์ ขอให้โชคดี

ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.worldometers.info/world-pop…/thailand-population/
http://www.thairath.co.th/content/410946