พวกเราคงเคยได้ยินข่าวเรื่องภาษีดอกเบี้ยเงินฝากกันแล้วจากประกาศของกรมสรรพากร แต่รู้หรือไม่ว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีเฉพาะการเก็บภาษีเท่านั้น แต่มันมีวาระอื่น ๆซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับนี้ด้วย?

 

เริ่มต้นก่อนว่าเขาจะเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากเราจริงไหม?

เรื่องนี้ต้องบอกว่าทั้งจริง และ ไม่จริง

เหตุผลที่บอกว่าจริงก็เพราะว่า ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากมีการเก็บอยู่ที่อัตรา 15% มีมานานแล้ว แต่ปกติจะยกเว้นให้สำหรับคนที่มีดอกเบี้ยน้อยกว่า 20,000 บาท โดยอัตโนมัติ ดอกเบี้ยเฉลี่ยของ 3 ธนาคารใหญ่อยู่ที่ 0.5% นั้นหมายความว่า คนที่จะเริ่มโดนภาษีตัวนี้จะต้องมีเงินอยู่ที่บัญชีเงินฝาก 4 ล้านบาท ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของไทยประมาณ 98.5% มีเงินฝากไม่ถึง 1 ล้านบาท จึงไม่โดนภาษีตัวนี้ ดังนั้นจึงไม่มีใครสนใจเท่าไหร่ (ดูรายละเอียดประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเก่า)

แต่ที่บอกว่าไม่จริงก็เพราะว่า มันสามารถที่จะยกเว้นได้เช่นเดิม แต่ว่า ประกาศฉบับใหม่ออกมามีบรรทัดหนึ่งเพิ่มเข้ามา การที่จะได้รับการยกเว้น จะต้องทำตามเกณฑ์นี้คือ “ต้องยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยของเราให้กรมสรรพากร” ถ้าไม่ทำตามก็จะโดนภาษี ซึ่งประเด็นนี้แหละที่เป็นที่มาของเรื่องราวในวันนี้

 

แล้วสรรพากรเขาจะเอาข้อมูลดอกเบี้ยเราไปทำไม?

คำตอบของเรื่องนี้ที่มาจากทางกรมสรรพากรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเอาไปทำอะไร ทางกรมสรรพากรบอกแค่เพียงว่าส่งข้อมูลจะถูกส่งเข้าไปยังฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและจบแต่เพียงเท่านั้น แต่จากการคาดการณ์ของทางเรา StockLittle เรื่องนี้มองได้ทางเดียวนั้นก็คือ “นำไปคิดหารายได้ที่เรามี เพื่อใช้เป็นข้อมูลภาษีรายคน!”

 

ซึ่งแนวคิดสำหรับเรื่องนี้ก็ง่ายๆ โดยสรรพากรสามารถคิดย้อนกลับรายได้โดยการใช้สูตรนี้

จำนวนเงินฝากที่มี = จำนวนดอกเบี้ย / อัตราดอกเบี้ย (หน่วย%)

ตัวอย่างเช่น

นาย A ได้รับดอกเบี้ยรวม 5,000 บาท ถ้าดอกเบี้ย 0.5% การได้รับดอกเบี้ย 5,000 บาทนั้นหมายความว่านาย A น่าจะมีเงินอยู่ทั้งสิ้น 1 ล้านบาท ( X = 5,000/0.5%)

และความสนุกมันไม่ได้จบแค่นั้น จากข้อมูลนี้สามารถนำไปคิดต่อได้อีก ถ้าเกิดว่ามีการนำข้อมูลมาเรียงๆกันรายปี เช่น ปีแรกมี เงินฝาก 1 ล้านบาท ปีที่ 2 มีเงินฝาก 3 ล้าน มันเกิดเป็นส่วนต่าง 2 ล้านบาท มันก็สามารถคาดคะเนได้ว่า อย่างน้อยที่สุดบุคคลนี้ ในปีที่ผ่านมาน่าจะมีรายได้เข้ามาขั้นต่ำ 2 ล้านบาท

เป็นไงบ้าง? ที่เขาจะสามารถติดตามการเคลื่อนไหวทางการเงินและสามารถติดตามข้อมูลของทุกคนที่ไปลงทะเบียนกับเขาเลย?

 

แล้วมีอะไรที่เราต้องกังวลบ้างไหม?

เรื่อง 1 ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะ คงไม่ได้ใช้ข้อมูลนี้ในการติดตามภาษีอย่างเข้ม แต่เป็นข้อมูลประกอบ

เพราะว่าข้อมูลที่ทางสรรพากรได้ไป คือ ข้อมูลดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งแหล่งที่มาของเงินมีได้หลากหลาย ซึ่งอาจจะเป็น ครอบครัวให้มา, กำไรจากตลาดหุ้น, ขายกองทุน เป็นต้น ซึ่งแหล่งที่มาของรายได้บางส่วนไม่จำเป็นต้องเสียภาษี การเรียกทุกคนมาเพราะว่าดอกเบี้ยสูงก็คงจะไม่ไหว แต่คงใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจพร้อมกับปัจจัยอื่น ๆ

เรื่อง 2 เรื่องนี้มีผลกระทบมากขนาดไหน?

ถ้าเกิดว่าเรายื่นภาษีตรงไปตรงมา เรื่องนี้ก็ไม่ค่อยกระทบเราเท่าไหร่ เรื่องนี้สบายใจได้ แต่ถ้าเกิดว่าใครที่หลบเลี่ยงมาตราการนี้ก็ออกจะน่ากลัวไปสักหน่อย

เรื่อง 3 แล้วเราควรที่จะต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลดอกเบี้ยหรือไม่?

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทางสรรพากรเขาไม่ได้บังคับ แต่ “ถ้าหากว่าไม่ยินยอมทางสรรพากรเขาก็จะรู้อยู่ดีจากจำนวนเงินที่ถูกส่งมอบเข้าสรรพากร” เราโดนหัก 15% เข้าก็แค่คูณย้อนกลับมาเป็นจำนวนดอกเบี้ยที่เราได้รับและคูณอีกทีเขาก็จะรู้เงินจำนวนที่มีอยู่ในบัญชีได้ตามลำดับ ไม่ว่าจะเปิดหรือไม่เปิดเผยมีค่าเท่ากัน

คิดยังไงกับเรื่องนี้บ้างคอมเมนต์แสดงความเห็นได้ที่เพจ StockLittle ลงทุนหุ้น ได้

 

ปล. จากข่าวล่าสุดดูเหมือนว่าทางกรมสรรพากรเขาจะแก้ข้อกฏหมายเป็นทุกคนจะต้องถูกส่งข้อมูลอัตโนมัติ แต่ถ้าใครที่ไม่อยากถูกส่งข้อมูลก็ให้ไปแสดงความจำนง ลดความยุ่งยากไปได้หน่อยนึง