ทำไมมัดแมนกำไรไม่ดีทั้งๆที่ขายอาหารราคาสูง? เรามารู้เหตุผลว่าทำไม หนึ่งในบริษัทที่กำไรสูงที่สุดของเขาคือ บริษัท โกลเด้น โดนัท (ประเทศไทย) จำกัด หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ดังกิ้น โดนัท ไปรับแฟรนไชน์มาจาก Dunkin Brands Group Inc ประเทศอเมริกา
ยอดขายในไทยปี 2558 มีรายได้อยู่ทั้งสิ้น 1,204 ล้านบาท ต้นทุนขาย 424 ล้านบาท คิดเป็นกำไรขั้นต้น 780 ล้านบาทหรือ 64.8% เยอะมาก มากกว่า After You อีก แต่ว่ามีค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร 657 ล้านบาทคิดเป็น 54.6% ทั้งๆที่ After You มีแค่ 43.3% และดั้งกินโดนัทส่วนใหญ่เปิดสาขาเล็กๆเป็นบูทขายเอาไปกินที่บ้าน ใส่กล่องกระดาษ พนักงานใช้น้อยกว่า ค่าไฟน่าจะใช้น้อยกว่า น่าจะมีค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารที่น้อยกว่าทำไมตัวเลขตรงนี้มันมากผิดปกติ และตัวเลขนี้ส่งผลไปถึงกำไรสุทธิเหลือ 6.3% น้อยกว่า After You เกือบ 10% คำถามก็คือทำไมบริษัท โกลเด้น โดนัท ถึงมีกำไรสุทธิต่ำแบบนี้ ข้อสันนิษฐานของเรา StockLittle ก็คือมันมาจากโมเดลธุรกิจที่เป็นแฟรนไชน์ของเขาเอง
การที่เป็นแฟรนไชน์หมายความว่าเราไปซื้อธุรกิจของเขามาทำ ข้อดีก็คือเราจะได้ชื่อเสียง, สูตร, สินค้า และวิธีการบริหารจัดการมาครบพร้อมสำหรับการขายได้เลย แต่ว่าการที่เราเอาธุรกิจของเขามาทำแน่นอนว่ามันต้องตามมาด้วยข้อจำกัดมากมาย เช่น เมื่อมีการเปิดสาขาใหม่ต้องมีการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมไปให้บริษัทแม่, บางทีก็ต้องซื้อสินค้าจากบริษัทแม่, อยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อบังคับของบริษัทแม่แต่ความพีคของมันก็คือมันจะมีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า “Royalty Fee และ Ad Royalty Fee”
Ad Royalty Fee คือค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้บริษัทแม่เป็นค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาดค่าใช้จ่ายพวกนี้มาจากแนวคิดที่ว่า บริษัทแม่ยิงโฆษณาออกไปผ่านทางช่องทางต่างๆ ร้านลูกจะได้ยอดขายด้วย ดังนั้นควรจะจ่ายค่าโฆษณาด้วย ส่วนค่า Royalty Fee เป็นค่าธรรมเนียมที่เราต้องจ่ายเพื่อใช้ลิขสิทธิ์หรือสิทธิ์บัตรของเขา ปกติก็เป็นค่าเครื่องหมายการค้า (ในทางปฏิบัติมันเหมือนกับเป็นเงินตอบแทนค่าใช้แฟรนไชน์ของบริษัทแม่)
กลับมาสู่ประเด็นที่ว่าทำไมมัดแมนถึงไม่ค่อยมีกำไร ถ้าเราลองดูข้อมูลจาก เว็บไซต์ https://www.entrepreneur.com/franchises/dunkindonuts/282304 ค่าธรรมเนียมของ Dunkin Brands Group สาขาย่อย Royalty Fee จะอยู่ที่ 5.9% ส่วนค่า Ad Fee จะอยู่ที่ 2-6% ถ้าเรามองโลกในแง่ดีเป็นแฟรนไชน์ระดับประเทศอย่างมัดแมน ให้ค่า Royalty Fee เหลือ 4% และ Ad Fee เหลือ 2% มันก็คือ 6% จากยอดขาย (*หมายเหตุ 1) เท่ากับกำไรสุทธิที่ทำเองเลย หรือพูดง่ายๆก็คือมัดแมนลงทุนเหนื่อยจ้างคน ทำงานสารพัดแต่บริษัทแม่ได้ค่าตอบแทนเท่ากับที่เราทำเองเลย มันน่าท้อใจ นี้เองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกำไรของมัดแมนไม่ค่อยดี (ความจริงมีหลายเหตุผล แต่เรื่องของค่า Royalty Fee เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขากำไรไม่มาก)
* หมายเหตุ 1 : ค่า Royalty Fee และค่า Ad Fee ทางบริษัทไม่เคยเปิดเผยออกมา ดังนั้นเราจึงได้แต่คาดการณ์ว่าเป็นเท่าไหร่
หมายเหตุ 2 : เห็นผู้บริหารพูดเรื่องการขยายแบรนด์เกรฮาวด์ทั้งแบบสาขาและแฟรนไชน์เป็นหลักน่าจะมาจากจุดเจ็บปวดในเรื่องนี้