ลองมองภาพด้านบนและลองนึกเล่นๆว่าถ้าเราเป็นคนชราในภาพแล้วตอนนั้นเราจะเป็นยังไงบ้าง? หลายๆคนคงจะมีหลายความรู้สึก แต่ผมยอมรับเลยว่าความรู้สึกของผมคือผมกลัว
ในอนาคตพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรพวกเราก็คงไม่รู้แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนรู้ก็คือ เราทุกคนต้องชรา เมื่อชราแล้วเรี่ยวแรงก็จะลดลงไป เราจะไม่แข็งแรงเหมือนตอนสมัยหนุ่มๆ เราไม่สามารถทำงานหนักๆได้เหมือนตอนหนุ่มๆ รายได้ที่เคยได้มาก็จะหายไป และจะน่ากังวลใจขึ้นถ้าเกิดว่าเราเป็นพนักงานธรรมดาหรือฟรีแลนซ์ ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมพร้อมเอาไว้สำหรับวัยชราที่จะมาถึง
เราหวังพึ่งรัฐบาลได้ไหม?
คำถามนี้หลายๆคนคงจะรู้อยู่แล้วละว่าคำตอบจะเป็นอะไร โดยเราจะแยกการตอบคำถามนี้ออกเป็น 3 ส่วนคือ ต่างประเทศเป็นยังไง, คนทั่วไปเป็นยังไง, ข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจเป็นอย่างไร
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ รัฐบาลจะบังคับออมเงิน โดยหักออกจากเงินเดือนสูงมาก 40-50% แล้วเอาไปออมไว้ให้ หลังจากนั้นเมื่อประชาชนแก่ตัว รัฐจะเอาเงินส่วนนี้มาให้ ที่ญี่ปุ่นหรือกลุ่มสแกนดิเนเวียจะได้อยู่ที่ประมาณเดือนละ 60,000-200,000 บาทขึ้นอยู่กับแผนเกษียรที่เจ้าตัวเลือก ประชาชนในประเทศกลุ่มนี้ก็คงอุ่นใจว่าอย่างน้อยก็จะไม่ลำบากยามชรา ใครสนใจดูได้ที่คลิปนี้ สูงวัยไปด้วยกัน : บ้านหลังสุดท้าย GenO(LD) (2 ส.ค. 60)
กลุ่มของประชาชนทั่วไป พนักงาน, อาชีพอิสระ เป็นต้น กลุ่มนี้เงินที่รัฐจัดมาให้ก็จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนประกันสังคมและเบี้ยยังชีพคนชรา ซึ่งในส่วนนี้เราไม่ขอลงลึกเรื่องรายละเอียด แต่จะเอาภาพของวิทยากรมาใช้แทน เป็นภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ ทำงานมาสักพัก ซึ่งใช้เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ได้ นี้คือรายได่จากสวัสดิการณ์ที่จะได้รับ
เบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท/เดือน น้อยมากจนน่าใจหาย ซื้อมาม่ากินยังไม่ได้ ปัจจุบันรัฐบาลออกมาประกาศแล้วว่าผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ์นี้มีอยู่ 10 ล้านคน ถ้าคิดออกมาเป็นตัวเลขก็เป็นรายจ่ายปีละ 72,000 ล้านบาท สูงพอสมควร ถ้าเกิดว่ามีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเป็น 20 ล้านก็น่าคิดว่ารัฐจะยังจ่ายในอัตรานี้ได้ไหม (ไม่คิดว่าจะเพิ่มให้หรือเปล่านะ แค่จ่ายไหวหรือเปล่าก็คงเต็มกลืน)
ประกันสังคมจะได้ประมาณ 5,250 บาท/เดือน หักมาจากเงินเดือนที่เราจ่าย 750 บาททุกเดือน แต่ว่าตัวประกันสังคมนี้ก็มีประเด็นอยู่ที่ว่า รายจ่ายของประกันสังคมมากกว่ารายรับเยอะมาก เนื่องจากสมมุติฐานที่ใช้ในการคำนวณเก่าเกินไป, ประชาชนอายุยืนขึ้นทำให้บำนาญที่ต้องจ่ายมากขึ้นตามไปด้วย, ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนน้อยเกินไป ซึ่งถ้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรโอกาสที่กองนี้สิทธิ์ล้มก็เป็นไปได้สูง ใครสนใจเรื่องนี้สามารถดูได้ที่นี้ เหตุใด “กองทุนประกันสังคม” จึงมีโอกาสล่มสลายสูงมาก?
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ วิทยากรได้มาประมาณ 6,250 บาท/เดือน อันนี้เรากับนายจ้างออกกันคนละครึ่ง เรื่องความมั่นคงไม่มีประเด็นมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือบางบริษัทเขาไม่อยากจ่ายเงินตรงนี้ เขาเลยลดเปอเซ็นต์ที่จ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลง ทำให้เงินที่เราได้รับยามชราน้อยลงไปด้วย ในส่วนนี้เราต้องตรวจสอบให้ดี
รวมตัวเลขจากวิทยากรแล้วจะได้เงินมาประมาณ 12,100 บาท/เดือน ตัวเลขนี้มองตรงๆก็บอกว่าเหนื่อยหน่อย และถ้าคิดเรื่องเงินเฟ้อที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้นก็คงบอกได้เลยว่าไม่พอแน่นอน และถ้าเจ็บป่วยยิ่งไม่ต้องคิดเลยว่าจะใช้เงินมากขนาดไหน ดังนั้นประเด็นเรื่องให้รัฐเลี้ยงตัดทิ้งไปได้เลยสำหรับคนธรรมดาอย่างพวกเรา
บทความต่อไปเราจะมาพูดถึง อนาคตรัฐบาลจะมีเงินไหม จะล้มไปก่อนหรือเปล่า?, ข้าราชการเป็นอย่างไร และเราต้องเตรียมเงินเท่าไหร่สำหรับการเกษียร