บทความนี้อนุญาตให้มีการเผยแพร่ได้อย่างเสรี จะตัดแปะ ดัดแปลง ก๊อบปี้ ทำอะไรก็ตามใจ โดยไม่ต้องขอ
พวกเราคงเคยได้ยินมาแล้วว่า ประเทศไทยของเรากำลังจะถูกประเทศอื่น ๆ แซง (ในด้านความมั่งคั่งของประชาชน) ในอีกเท่านั้นเท่านี้ปี ฟังดูเป็นเรื่องที่น่าใจหายเหมือนกันที่จะถูกเพื่อนบ้านแซงขึ้นไป เรื่องนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน เดี๋ยวผม โอปอ จาก StockLittle.com จะมาเล่าให้ฟังในบทความนี้
เราใช้อะไรวัดความมั่งคั่ง?
เมื่อพูดถึงเรื่องการวัดว่าประเทศไหนเหนือกว่าประเทศไหน หลายคนก็คงจะเคยได้ยินตัวเลขอย่างเช่น GDP หรืออัตราการเติบโตของ GDP (%) มาดูกันว่าเครื่องมือวัดพวกนี้เราพอจะใช้ได้ไหม?
GDP คือ มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ถูกผลิตขึ้นมาภายในประเทศโดยที่ไม่สนใจว่าใครจะเป็นผู้ผลิต ตัวเลขนี้ สามารถที่จะบอกได้ว่าเศรษฐกิจของใครมีขนาดใหญ่กว่ากัน แต่การที่จะนำมาเทียบว่าประชาชนของใครมีความมั่งคั่งมากกว่าใคร โดยใช้ตัวเลข GDP ตรง ๆ ก็ดูจะไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ เพราะว่า แต่ละประเทศจะมีจำนวนประชากรที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะส่งผลต่อขนาดเศรษฐกิจตามมา ตัวอย่างเช่น สิงโปร์มีประชากร 5.6 ล้านคน ประเทศไทยมีประชากร 69 ล้านคน สิงค์โปร์มี GDP 364.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศไทยมี GDP 504.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ GDP ของไทยใหญ่กว่าก็จริงแต่ว่าประชาชนมากกว่า 12 เท่าตัว เรื่องนี้ต้องชมทางสิงค์โปรเลยว่าถึงแม้จะมีประชากรน้อยแต่มีความสามารถในการบริหารจัดการได้เยี่ยมมาก
ตัวเลขต่อมา คือ อัตราการเติบโตของ GDP (%) ที่เรามักจะเห็นตามสื่อบ่อย ๆ เช่นโต 3% 7% 10% ตัวเลขนี้ก็มีปัญหาเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ประเทศ A GDP อยู่ที่ 100 ขึ้นมา เป็น 110 จะมีตัวเลขการเติบโต 10% แต่ประเทศ B GDP อยู่ที่ 2,000 เติบโตขึ้นเป็น 2,100 โตขึ้นมา 5% ถ้าใช้ตัวเลขอัตราการเติบโตตรง ๆ และฐานต่างกันมาก ภาพที่เห็นมันจะไม่ถูกต้อง
แล้วเราจะใช้อะไรดีละเพื่อบอกความมั่งคั่งของประชาชน? เรื่องนี้ทาง World Bank เขาได้เสนอตัวเลขหนึ่งขึ้นมาคือ GNI per Capita Atlas Method ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ตัวเลขนี้จะคล้ายๆกับ GDP แต่ตัดเงินช่วยเหลือ, เงินเฟ้อ, การลงทุนจากคนต่างชาติและรวมเงินที่คนไทยในต่างประเทศ หลังจากนั้นก็นำมาหารต่อหัวประชาชน ว่าประชาชนแต่ละคนสามารถหารายได้ได้เท่าไหร่ ยิ่งสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งดี จะเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งของประเทศ และตัวเลขนี้ยังเป็นตัวเลขที่บอกว่าประเทศไหนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย โดยเกณฑ์คือ ต้องมี GNI per Capita มากกว่า 12,736 USD อย่างในกรณีของไทยและสิงโปร์เช่นเดิม ของไทยจะอยู่ที่ 6,611 USD ของสิงค์โปร์อยู่ที่ 58,770 USD ถ้าหากว่าใครสนใจอยากศึกษาเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่บทความนี้ เมื่อไหร่ไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว?
แล้วประเทศอื่น ๆ จะแซงเราเมื่อไหร่?
ข้อมูลที่ทุกท่านเห็นนี้เป็นข้อมูลที่นำมาจาก World Bank แล้วนำมาคำนวณเพิ่มเติม โดยใช้ตัวเลขอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง และคิด GNI per Capita ต่อไปข้างหน้า หากมองคร่าวๆจะเห็นภาพรวมดังนี้ ในปัจจุบันเราก็ยังรวยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่พอสมควร แต่อัตราการเติบโตของ GNI per Capita นั้นเราต่ำมากที่สุด ต่ำกว่าบางประเทศเกือบ 2 เท่าก็มี ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ นี้คือภาพที่จะเป็นในอนาคต
ช่องสีเหลืองๆที่ผมไฮไลท์ก็คือเวลาที่ประเทศนั้นจะแซงเราขึ้นไป น่าแปลกใจใช่ไหมครับที่ไม่ใช่ประเทศเวียดนามที่จะแซงเราได้ก่อนแต่ว่าเป็นประเทศลาว
ประเทศลาว จะใช้เวลาในการแซงไทย 15 ปี หรือปี ค.ศ. 2034
เวียดนามและพม่า จะใช้เวลาในการแซงไทย 27 ปี หรือปี ค.ศ. 2046
อินโดนีเซีย จะใช้เวลาในการแซงไทย 28 ปี หรือ ปี ค.ศ. 2047
เป็นยังไงกันบ้างครับข้อมูลนี้ต่างจากที่คิดไหม? ไม่นานเลยที่เขาจะแซงเรา และยังคงได้ทันเห็นในรุ่นเราอย่างแน่นอน และประเทศเราจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอีก 13 ปี ประมาณปี 2574 และถ้าเกิดว่าใครตามข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเร็วๆนี้เราจะได้ยินหัวข้อข่าวนี้ “XXX ประกาศกร้าว! กลางนิวยอร์ก ปี 2579 เมืองไทยจะเป็น ประเทศรายได้สูง” ฟังดูเหมือนจะดี แต่ว่าหากมองไปลึกๆแล้วมันไม่ได้ดีขนาดนั้น และมันออกจะเป็นเรื่องที่ตลกร้ายไปสักนิด เพราะว่าทางภาครัฐเขามองว่าการเติบโตของ GNI น้อยกว่าเราอีก โดยภาครัฐมองไว้ที่ประมาณ 3.8% เท่านั้น! (ของเราอยู่ที่ประมาณ 5.33%) ดังนั้นแล้ว ถ้าเกิดว่าตัวเลขของภาครัฐเป็นจริง เวลาที่ประเทศอื่นจะแซงที่ผมพูดในด้านบนนั้นจะมาถึงเร็วขึ้นกว่าเดิมอีกมาก!
บทสรุป และอนาคต
เป็นเรื่องราวที่น่าหดหู่ไหมครับ? แต่ผมก็ไม่อยากให้หมดหวัง หรือเสียกำลังใจในอนาคตว่ามันจะเป็นอย่างนี้จริง ๆ เพราะอนาคตมีความไม่แน่นอนต่าง ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งอาจจะดีกว่าที่เราคิดก็เป็นได้ อนาคตทั้งหมด ไม่ได้เกิดจากตัวเลขหรือสถิติอะไร แต่เกิดขึ้นจาก 2 มือของพวกเราทุกคนที่ช่วยกันสร้างขึ้นมา และเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้มันดีขึ้นกว่าเดิม สวัสดีครับ!
FAQ
Question :
ตัวเลขการเติบโต ไทยใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่หรือ มันก็ต้องเติบโตช้าเป็นเรื่องธรรมดา การเอาตัวเลขการเติบโต มาคิดมันไม่ถูกต้องไม่ใช่หรือ?
Answer :
คำตอบ 1 GNI per Capita คือการตัดตัวแปรเรื่องนี้ออกไปแล้ว โดยนำมาหารเฉลี่ยรายคนและวัดประสิทธิ์ภาพกันตรง ๆ และ 6,611 USD ไม่ใช่ตัวเลขที่สูงอะไรมากเลย และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกเกือบ 2 เท่า (ค่าเฉลี่ยโลก11,097.64 USD) ส่วนประเทศที่สูงสุดในโลกเป็นของประเทศลิกเตนสไตน์ อยู่ที่ 116,430 USD
คำตอบ 2 จะบอกว่าเศรษฐกิจเราใหญ่จนกระทั้งต้องโตช้าเรื่องนี้ก็ไม่จริง ถ้านึกภาพไม่ออกให้ดูประเทศจีน ขนาดเศรษฐกิจเขาใหญ่มาก เขายังสามารถเติบโตได้ดี และอีกหลายๆประเทศที่เขาใหญ่พอๆกับไทยเขาก็ยังคงเติบโตได้ดี มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาด แต่ขึ้นอยู่กับการบริการจัดการเป็นองค์ประกอบสำคัญมากกว่า
แหล่งข้อมูล :
data.worldbank.org/indicator/NY.GNP.PCAP.CD
datahelpdesk.worldbank.org/knowledgebase/articles/378832-the-world-bank-atlas-method-detailed-methodology
khaosod.co.th/politics/news_2922039